Site icon Ramkhamhaeng Advent International School, Bangkok Thailand

Know your kid – ISSUE 6

know-your-kid

Know your kid – ISSUE 6

“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ธรรม”

ครั้งหนึ่งมีคุณพ่อท่านหนึ่งได้เข้ามาคุยกับผม  โดยได้บอกผมว่าเขาไม่เห็นด้วยกับสำนวนโบราณที่ว่า “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ตี”   เพราะเขาไม่เชื่อว่าการลงโทษลูกด้วยการตีจะเป็นวิธีการที่ดี  เขาเป็นคนไม่ตีลูก  และจะไม่ลงโทษลูกด้วยวิธีนี้อย่างเด็ดขาด  เพราะแทนที่จะสอนลูกโดยใช้วิธีเฆี่ยนตี  เขาคิดว่าน่าจะหลอกล่อโดยใช้วิธีให้สิ่งของหรือของขวัญตอบแทนดีกว่า ซื้อของที่ลูกอยากได้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด  ผมตั้งข้อสังเกตว่าจริงเหรอที่คนโบราณใช้สำนวนที่ว่านี้ในการเลี้ยงดูลูก  จริงเหรอที่คนสมัยก่อนเลี้องลูกด้วยวิธีเฆี่ยนตี  จากวันนั้นผมได้ค้นหาข้อมูลและได้สอบถามผู้ใหญ่หลายท่าน  ทำให้ผมได้ข้อสรุปถึงสำนวนไทย “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ตี”  นี้ว่า  คนส่วนใหญ่ทั่วไปมักจะตีความถึงสำนวนนี้ว่า  การเลี้ยงลูกให้ได้ดีและอยู่ในโอวาทนั้นจะต้องลงโทษลูกด้วยการโบยหรือการตีให้เจ็บ  เท่านั้นยังไม่พอ  กระบวนการดังกล่าวยังไปถึงโรงเรียนด้วย  คือครูต้องตีเด็กที่ทำความผิด  เพราะสำนวนไทยหรือคนโบราณสอนไว้อย่างนั้น

ความจริงแล้วสำนวนไทยโบราณที่ว่า  “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ตี”  มิได้เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด  ความหมายที่แท้จริงคนโบราณพยายามจะอธิบายว่า  การเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงนั้นจะต้องสร้างความห่วงใยกับสัตว์ที่เราเอามาเลี้ยง  ผูก  ในบริบทดังกล่าวคือการสร้างความผูกพัน  การเอาใจใส่ด้วยความรัก  นั่นแหละจึงมีความหมายตรงกับรักวัวให้ผูก  ส่วนคำว่ารักลูกให้ตีหมายความว่า  การเลี้ยงดูลูกจะต้องตีกรอบหรือสร้างกรอบที่ดีให้ลูก  เพื่อเขาจะได้อยู่ในกรอบของสังคม  คือ  มีวินัย  มีศีลธรรม  จรรยาที่ดี  มิใช่หมายถึงการเฆี่ยนตีอย่างโหดร้ายทารุณ  ดังนั้นคำว่าตี  คนโบราณจึงหมายถึงการดูแลขัดเกลานิสัยของลูกให้อยู่ในกรอบของครรลองคลองธรรม  จะได้เติบโตมาเป็นคนดี  เพราะลูกย่อมเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่

ในยุคปัจจุบัน  ครอบครัวที่ยังคงยึดกับสำนวนที่ว่านี้น่าจะมีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด  ผมสังเกตว่าในยุคทุนนิยมแบบนี้  ครอบครัวสมัยใหม่มักให้คุณค่ากับการ “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้เงิน” เสียมากกว่า  ลองนึกย้อนดูว่าพ่อแม่อย่างเรามักมีความเชื่อกับการเอาเงินหรือสิ่งของมาหลอกล่อลูกต่าง ๆ นา ๆ  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าลูกกินข้าวชามนี้หมด เดี๋ยวแม่จะซื้อของให้ลูก 1 อย่าง  หรือถ้าลูกสอบผ่าน พ่อจะซื้อจักรยานให้  หรือแม้กระทั่งหากลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ พ่อแม่จะซื้อรถให้ เป็นต้น  ค่านิยมแบบนี้มักถูกปลูกฝังในหัวของเด็กเป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็ก ๆ  ที่ยังไม่เข้าใจโลกภายนอก  ประกอบเข้ากับสังคมสมัยนี้ที่ให้ความสำคัญกับคนรวยมากกว่าคนเก่ง  เราให้ความเคารพยำเกรงคนร่ำรวยมากกว่า ก็เท่ากับว่าเด็กถูกปลูกฝังให้เคารพเงิน  ให้การยกย่องฐานะทางสังคมมากกว่าความสามารถ  บุคคลใดหรือครอบครัวใดที่มีฐานะร่ำรวยก็จะเป็นที่นับน่าถือตาจากคนทั่วไป

หลังจากที่ผมได้คำตอบที่ชัดเจนแล้ว  ผมย้อนกลับไปที่คุณพ่อท่านเดิม  แล้วได้มีการพูดคุยกันมากขึ้น  คุณพ่อท่านนั้นก็มีความเข้าใจในสุภาษิตนี้ดีขึ้นเช่นเดียวกับผม  ผมมาคิดดูและทำให้ผมคิดว่าน่าจะมีคุณพ่อคุณแม่อีกหลายท่านที่ยังคงเข้าใจความหมายของสำนวนนี้ผิดไป  ในบางครั้งหากเราไม่ขวนขวายหาคำตอบ  เราก็จะไม่รู้ว่าความจริงนั้นคืออะไร  สิ่งที่คนโบราณได้สอนไว้นั้น  หลาย ๆ ครั้งก็เป็นสิ่งที่เราควรปฏิบัติตาม  ผมไม่แปลกใจเลยที่เด็กไทยในสมัยโบราณถึงได้เติบโตมาด้วยความรักและความเข้าใจของพ่อแม่  และโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูที่ให้ความใกล้ชิดและอบอุ่นมากกว่าในยุคสมัยนี้หลายเท่านัก  แถมอาหารการกินยังถูกหลักโภชนาการอีกด้วย

สำนวน “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ตี” ในสายตาใครหลาย ๆ คนคงเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก  แต่หากเราปลูกฝังความคิดของเด็กรุ่นใหม่ให้มีความคิดที่ดี  มีวินัยที่ดี  มีศีลธรรม จริยธรรม และธรรมะในใจ  ผมเชื่อแน่ว่าไม่ว่าโลกภายนอกจะหมุนเปลี่ยนไปอย่างไร หากเรามีธรรมะในใจ เราก็จะต่อสู้กับศัตรูรอบข้างได้อย่างแน่นอน  เพราะธรรมะเป็นแก่นกลางของทุกศาสนา  และศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของทุกคน  ดังนั้นครอบครัวยุคใหม่ควรเลี้ยงลูกด้วยการ  “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ธรรม” น่าจะเหมาะสมที่สุดครับ

What can we help you find?

Exit mobile version