0-2370-0316-7 LINE: @RAIS

Know your kid – ISSUE 6

“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ธรรม”

ครั้งหนึ่งมีคุณพ่อท่านหนึ่งได้เข้ามาคุยกับผม  โดยได้บอกผมว่าเขาไม่เห็นด้วยกับสำนวนโบราณที่ว่า “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ตี”   เพราะเขาไม่เชื่อว่าการลงโทษลูกด้วยการตีจะเป็นวิธีการที่ดี  เขาเป็นคนไม่ตีลูก  และจะไม่ลงโทษลูกด้วยวิธีนี้อย่างเด็ดขาด  เพราะแทนที่จะสอนลูกโดยใช้วิธีเฆี่ยนตี  เขาคิดว่าน่าจะหลอกล่อโดยใช้วิธีให้สิ่งของหรือของขวัญตอบแทนดีกว่า ซื้อของที่ลูกอยากได้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด  ผมตั้งข้อสังเกตว่าจริงเหรอที่คนโบราณใช้สำนวนที่ว่านี้ในการเลี้ยงดูลูก  จริงเหรอที่คนสมัยก่อนเลี้องลูกด้วยวิธีเฆี่ยนตี  จากวันนั้นผมได้ค้นหาข้อมูลและได้สอบถามผู้ใหญ่หลายท่าน  ทำให้ผมได้ข้อสรุปถึงสำนวนไทย “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ตี”  นี้ว่า  คนส่วนใหญ่ทั่วไปมักจะตีความถึงสำนวนนี้ว่า  การเลี้ยงลูกให้ได้ดีและอยู่ในโอวาทนั้นจะต้องลงโทษลูกด้วยการโบยหรือการตีให้เจ็บ  เท่านั้นยังไม่พอ  กระบวนการดังกล่าวยังไปถึงโรงเรียนด้วย  คือครูต้องตีเด็กที่ทำความผิด  เพราะสำนวนไทยหรือคนโบราณสอนไว้อย่างนั้น

ความจริงแล้วสำนวนไทยโบราณที่ว่า  “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ตี”  มิได้เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด  ความหมายที่แท้จริงคนโบราณพยายามจะอธิบายว่า  การเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงนั้นจะต้องสร้างความห่วงใยกับสัตว์ที่เราเอามาเลี้ยง  ผูก  ในบริบทดังกล่าวคือการสร้างความผูกพัน  การเอาใจใส่ด้วยความรัก  นั่นแหละจึงมีความหมายตรงกับรักวัวให้ผูก  ส่วนคำว่ารักลูกให้ตีหมายความว่า  การเลี้ยงดูลูกจะต้องตีกรอบหรือสร้างกรอบที่ดีให้ลูก  เพื่อเขาจะได้อยู่ในกรอบของสังคม  คือ  มีวินัย  มีศีลธรรม  จรรยาที่ดี  มิใช่หมายถึงการเฆี่ยนตีอย่างโหดร้ายทารุณ  ดังนั้นคำว่าตี  คนโบราณจึงหมายถึงการดูแลขัดเกลานิสัยของลูกให้อยู่ในกรอบของครรลองคลองธรรม  จะได้เติบโตมาเป็นคนดี  เพราะลูกย่อมเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่

ในยุคปัจจุบัน  ครอบครัวที่ยังคงยึดกับสำนวนที่ว่านี้น่าจะมีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด  ผมสังเกตว่าในยุคทุนนิยมแบบนี้  ครอบครัวสมัยใหม่มักให้คุณค่ากับการ “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้เงิน” เสียมากกว่า  ลองนึกย้อนดูว่าพ่อแม่อย่างเรามักมีความเชื่อกับการเอาเงินหรือสิ่งของมาหลอกล่อลูกต่าง ๆ นา ๆ  ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าลูกกินข้าวชามนี้หมด เดี๋ยวแม่จะซื้อของให้ลูก 1 อย่าง  หรือถ้าลูกสอบผ่าน พ่อจะซื้อจักรยานให้  หรือแม้กระทั่งหากลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ พ่อแม่จะซื้อรถให้ เป็นต้น  ค่านิยมแบบนี้มักถูกปลูกฝังในหัวของเด็กเป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็ก ๆ  ที่ยังไม่เข้าใจโลกภายนอก  ประกอบเข้ากับสังคมสมัยนี้ที่ให้ความสำคัญกับคนรวยมากกว่าคนเก่ง  เราให้ความเคารพยำเกรงคนร่ำรวยมากกว่า ก็เท่ากับว่าเด็กถูกปลูกฝังให้เคารพเงิน  ให้การยกย่องฐานะทางสังคมมากกว่าความสามารถ  บุคคลใดหรือครอบครัวใดที่มีฐานะร่ำรวยก็จะเป็นที่นับน่าถือตาจากคนทั่วไป

หลังจากที่ผมได้คำตอบที่ชัดเจนแล้ว  ผมย้อนกลับไปที่คุณพ่อท่านเดิม  แล้วได้มีการพูดคุยกันมากขึ้น  คุณพ่อท่านนั้นก็มีความเข้าใจในสุภาษิตนี้ดีขึ้นเช่นเดียวกับผม  ผมมาคิดดูและทำให้ผมคิดว่าน่าจะมีคุณพ่อคุณแม่อีกหลายท่านที่ยังคงเข้าใจความหมายของสำนวนนี้ผิดไป  ในบางครั้งหากเราไม่ขวนขวายหาคำตอบ  เราก็จะไม่รู้ว่าความจริงนั้นคืออะไร  สิ่งที่คนโบราณได้สอนไว้นั้น  หลาย ๆ ครั้งก็เป็นสิ่งที่เราควรปฏิบัติตาม  ผมไม่แปลกใจเลยที่เด็กไทยในสมัยโบราณถึงได้เติบโตมาด้วยความรักและความเข้าใจของพ่อแม่  และโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูที่ให้ความใกล้ชิดและอบอุ่นมากกว่าในยุคสมัยนี้หลายเท่านัก  แถมอาหารการกินยังถูกหลักโภชนาการอีกด้วย

สำนวน “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ตี” ในสายตาใครหลาย ๆ คนคงเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก  แต่หากเราปลูกฝังความคิดของเด็กรุ่นใหม่ให้มีความคิดที่ดี  มีวินัยที่ดี  มีศีลธรรม จริยธรรม และธรรมะในใจ  ผมเชื่อแน่ว่าไม่ว่าโลกภายนอกจะหมุนเปลี่ยนไปอย่างไร หากเรามีธรรมะในใจ เราก็จะต่อสู้กับศัตรูรอบข้างได้อย่างแน่นอน  เพราะธรรมะเป็นแก่นกลางของทุกศาสนา  และศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของทุกคน  ดังนั้นครอบครัวยุคใหม่ควรเลี้ยงลูกด้วยการ  “รักวัวให้ผูก  รักลูกให้ธรรม” น่าจะเหมาะสมที่สุดครับ

What can we help you find?

Pin It on Pinterest

Share This

Share this post with your friends!

Shares